...................เด็ก ๆ คะ กลับมาพบกับครูหลิว (สุดสวย...มั้ง!)
กันอีกครั้งนะคะ เด็ก ๆ คะครูหลิวอยากสอน เรื่องการสังเกตเพิ่มเติมน่ะค่ะ
แต่ก่อนอื่นขอท้าวความเดิมสักหน่อยนะคะ
..................การสังเกตเป็นหนึ่งในทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ขั้นพื้นฐาน
ที่มีทั้งหมด 8 ทักษะ การสังเกตถือเป็นทักษะพื้นฐานที่สำคัญมากทักษะหนึ่ง
เพราะการทำการทดลองในวิชาวิทยาศาสตร์ล้วนต้องใช้การสังเกตช่วย
การสังเกต หมายถึง การใช้ประสาทสัมผัสทั้ง 5 ได้แก่ ตา = มองดู หู = ฟัง
จมูก = ดมกลิ่น ลิ้น = ชิมรส ผิวกาย = สัมผัส และการใช้ประสาทสัมผัส
ในการสังเกตไม่จำเป็นต้องใช้ประสาทสัมผัสครบทั้ง 5 ประเภทค่ะ เพียงแต่เลือก
ใช้ให้เหมาะกับสิ่งที่เราสังเกตเท่านั้นค่ะ เช่น ในภาพนี้สมมติว่าเด็ก ๆ มองเห็น
บีกเกอร์เหล่านี้วางอยู่บนโต๊ะในห้อง LAB แล้วเด็ก ๆ ก็แสนที่จะสงสัยว่า
มันคืออะไรกันนะสีสวยจัง เด็ก ๆ จะเลือกใช้ประสาทสัมผัสใดบ้างคะ
ตอบยังเอ่ย ! เอาละมาช่วยกันคิดว่าประสาทสัมผัสใดใช้ได้บ้าง
1. ใช้แน่นอน ต้องใช้ ตา เป็นอันดับแรกอยู่แล้วค่ะ
ตา : ในบีกเกอร์มีของเหลวสีเหลือง สีเขียว และสีแดง
ตา : มีบีกเกอร์อยู่หลายใบวางบนโต๊ะ (การสังเกตเขาจะไม่ระบุตัวเลขค่ะ
ถ้าระบุตัวเลขจะเป็นอีกทักษะหนึ่งนั่นคือ ทักษะการคำนวณ ซึ่งน้อง ป.2
ของเราจะได้เรียนในภาคเรียนที่ 2 ค่ะ)
2. ใช้ จมูก
จมูก : ของเหลวในบีกเกอร์มีกลิ่น (เวลาทำการดมกลิ่นของเหลวในบีกเกอร์
เด็ก ๆ ต้องใช้วิธีโบกมือเหนือของเหลวนั้นให้ไอของกลิ่นนั้นมาเข้าจมูกค่ะ
ห้ามใช้จมูกสูดดมโดยตรง เพราะเราไม่แน่ใจว่า ของเหลวนั้นคืออะไร
ซึ่งถ้าเป็นกรดก็อาจจะเป็นอันตรายต่อเยื่อจมูกของเด็ก ๆ ได้ค่ะ และ
เมื่อดมกลิ่นแล้วไม่ต้องบอกว่า หอม หรือ เหม็น เพราะถ้าบอกว่า
หอมหรือเหม็นจะเป็นการใช้ความรู้สึกของตนเอง ซึ่งก็จะเป็นอีก
ทักษะหนึ่ง นั่นคือ ทักษะการลงความเห็นค่ะ)
....................จากภาพนี้จะสังเกตได้ว่าเด็ก ๆ ควรเลือกใช้ประสาทสัมผัส
เพียง 2 อย่างเท่านั้น เพราะเหตุว่า เมื่อเลือกใช้ประสาทสัมผัสดังกล่าว
แล้วจะไม่เป็นอันตรายต่อเด็ก ๆ นั่นเอง ดังนั้นสิ่งแรกที่เด็ก ๆ ต้องคำนึงถึง
ก็คือ ความปลอดภัย ค่ะ
แหม ! ทำหน้างง...เชียว ครูหลิวครับ แล้วประสาทสัมผัสที่เหลือ
ทำไมใช้ไม่ได้ล่ะครับ ฮ่า....ฮ่า.... ไม่สวยไม่บอกนะนี่ ครูหลิวใจดีจะ
บอกให้ค่ะว่าประสาทสัมผัสอีก 3 อย่างไม่เหมาะสมอย่างไรบ้าง
ประสาทสัมผัสที่ 1 หู : เนื่องจากเราไม่สามารถใช้หูฟังเสียงของเหลวที่อยู่
ในบีกเกอร์ได้ และการฟังก็ไม่สามารถบอกได้ว่าสิ่งที่อยู่ในบีกเกอร์นั้นคืออะไร
ประสาทสัมผัสที่ 2 ลิ้น : เราไม่ควรใช้ลิ้นชิมเลย เพราะสิ่งที่เราเห็นในบีกเกอร์
นั้นเราไม่แน่ใจว่ามันคืออะไร อาจจะเป็นอันตรายถึงขั้นเสียชีวิตได้ ดังนั้น
ประสาทสัมผัสส่วนลิ้นนี้จึงต้องใช้อย่างระมัดระวังที่สุดค่ะ
ประสาทสัมผัสที่ 3 ผิวกาย : การที่จะทำให้เราทราบว่าของเหลวที่อยู่ใน
บีกเกอร์ นั่นคืออะไรนั้นเราไม่สามารถใช้ผิวกายบอกได้ ดังนั้นจึงเป็น
การเสี่ยงเกินไปที่จะนำของเหลวนั้นมาสัมผัส แต่ควรเลือกใช้เครื่องมืออื่น ๆ
มาช่วยในการบอกว่าของเหลวนั้นคืออะไร เช่นอาจใช้กระดาษลิตมัส
ทดสอบความเป็นกรด-เบส เป็นต้น
................เป็นไงคะการสังเกตไม่ใช่เรื่องยากเลยนะคะ แต่ต้องฝึกบ่อย ๆ
แล้วเด็ก ๆจะเป็นคนช่างสังเกตโดยไม่รู้ตัวเลยล่ะคะ ซึ่งอนาคตครูหลิว
ก็จะมีลูกศิษย์เป็นนักวิทยาศาสตร์เต็มบ้านเต็มเมืองเลยล่ะค่ะ
รักเด็ก ๆ มากมาย
By ครูหลิว